ข้อห้ามในการทำปุ๋ยหมักรักษ์โลก แบบไม่พลิกกอง

ห้ามขี้เกียจดูแลน้ำกองปุ๋ย เพราะถ้า “ข้างใน” กองปุ๋ยแห้งลง จุลินทรีย์จะมีชีวิตทำงานให้เราไม่ได้ การย่อยสลายจะยุติ  เพราะไม่มีจุลินทรีย์หน้าไหนในโลกที่ทำงานย่อยสลายได้โดยไม่ต้องมีความชื้น …… การดูแลน้ำกองปุ๋ยกองใหญ่มี 3 ขั้นตอน ให้หาอ่านในลิ้งค์วิธีทำข้างล่างท้ายโพสต์นี้นะครับ

อย่านึกว่าการรดน้ำกองปุ๋ยจากภายนอกจะทำให้น้ำซึมลงไปข้างในได้ทั่วถึง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะน้ำจะไม่มีวันซึมลงไปลึกถึงข้างล่างได้ครับ แม้กระทั่งน้ำฝนก็ตาม …….. เนื่องจากคุณสมบัติที่เรียกว่า Field Capacity ของอินทรียวัตถุที่จะอุ้มน้ำไว้ ไม่ยอมให้น้ำส่วนเกินซึมลงข้างล่าง ………. คล้ายกับหลังคามุงฟางหรือจากครับ …… อย่าคิดวางท่อพีวีซีเจาะรูเสียบลงไปในกองปุ๋ย กะว่าจะได้ประหยัดแรงงานในการเจาะกองกรอกน้ำ เพราะการทำแบบนี้ท่อจะตันเร็วมาก และน้ำจะไม่มีทางที่จะกระจายไปในกองปุ๋ยได้ทั่ว …….. แพง เป็นต้นทุน ……… แถมยังทำให้กองปุ๋ยสูญเสียความร้อนอีกด้วย

ห้ามทำกองปุ๋ยหมักในหลุม ในถังวง หรือทำในคอกซีเมนต์บล็อคทึบ เพราะจะทำให้อากาศเข้าทางด้านข้างไม่ได้ ทำให้เน่าเหม็น น้ำขัง ……. ถ้าทำ ก็ต้องระวังไม่ให้น้ำฝนขัง …… ต้องพลิกผสมวันละครั้งเพื่อเติมอากาศให้น้องจุล ….. ถ้าทำในคอกทึบก็ต้องไม่ให้กองปุ๋ยพิงกับผนังคอกครับ อากาศจะได้ไหลเวียนเข้ากองได้

ห้ามระบายความร้อนในกองปุ๋ย เพราะความร้อนจะช่วยให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีขึ้น และช่วยให้มีการไหลเวียนของอากาศเข้ากองปุ๋ย ที่ทำให้เราลดแรงงานในการพลิกกองปุ๋ยได้

ห้ามทำกองปุ๋ยใต้ต้นไม้ เพราะความร้อนและน้ำที่ละลายแร่ธาตุออกมาจะทำให้ต้นไม้ ไม่รอดได้ ควรทำนอกทรงพุ่มและเบี่ยงน้ำที่ออกมาจากกองปุ๋ยไม่ให้ไปเจิ่งนองที่โคนต้นไม้ …… ถ้าเป็นแบบกองใหญ่ควรห่าง 2 ม. ….. แบบวงตาข่ายควรห่าง 1.5 ม. …… ส่วนตะกร้าผ้าวางใต้ต้นไม้ใหญ่ได้ครับ

ห้ามทำเป็นกองใหญ่รูปสี่เหลี่ยมสำหรับกองที่ฐานกว้าง ๆ เพราะอากาศจะเข้าไปถึงตรงกลางกองปุ๋ยไม่ได้ ทำให้การย่อยสลายช้าลง ….. ยกเว้นการทำแบบกองเล็กรูปสี่เหลี่ยมที่ฐานกว้าง 1 เมตร (การทำแบบที่ 2) ที่ทำกองสี่เหลี่ยมได้

ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ย เพราะจะทำให้กองปุ๋ยแน่นจนอากาศเข้ากองปุ๋ยไม่ได้

ห้ามวางเศษพืชหนาเกินไป จารย์ลุงกำหนดให้ชั้นเศษพืชหนาได้ไม่เกิน 5-10 ซม. เพราะถ้าชั้นเศษพืชหนาเกินไปจุลินทรีย์จะเข้าไปย่อยสลายไม่ได้

ห้ามเอาผ้าคลุม หรือเอาดินปกคลุมข้างบน เพราะจะไปขัดขวางการไหลของอากาศ จุลินทรีย์จะขาดออกซิเจนซึ่งส่งผลให้การย่อยสลายช้ามาก เกิดได้ไม่สมบูรณ์ และส่งกลิ่นเหม็น

ห้ามแคร์สายตาของเพื่อนบ้าน เพราะเขาพวกนั้นเป็นพวก “ดวงตายังไม่เห็นธรรม” เขาพวกนั้นยังรังเกียจการลงมือทำการเพาะปลูกอย่างประณีต ที่เป็นเหตุเป็นผล แต่กลับรักที่จะเสียเงินมาก ๆ ซื้อปุ๋ยนาโน ปุ๋ยมหัศจรรย์ ปุ๋ยสารพัดกรด ฯลฯ และชอบเผาฟางใบไม้ทิ้ง ……. และเชื่อไหมครับ พอเราทำปุ๋ยหมักใส่กระสอบเสร็จ เขาพวกนั้นก็จะเป็นกลุ่มแรกที่มาขอแบ่งซื้อ ….. ห้ามทะเลาะกับคนในครอบครัว ถึงแม้ว่าเขาพวกนั้นจ้องแต่จะสบประมาท …… อย่าไปสนใจครับ เอาไว้ครบ 2 เดือนค่อยมาว่ากันใหม่

จะใส่จุลินทรีย์ อีเอ็ม หรือ พด.1 เพิ่มก็ได้ แต่การย่อยสลายจะไม่เสร็จเร็วขึ้นครับ ……. การที่วิธีทำง่าย ๆ ก็ไม่ได้แปลว่าปุ๋ยหมักไม่มีคุณภาพนะจ๊ะ

น้ำหมักชีวภาพ น้ำจุลินทรีย์ หาได้เป็นพระเอกในทุกเรื่องไม่ สำหรับกองปุ๋ยแบบของจารย์ลุงนี้ เป็นการย่อยสลายแบบใช้ออกซิเจนที่ไม่เคยส่งกลิ่น แต่ถ้าเอาน้ำหมักชีวภาพมาใส่ จุลินทรีย์ในน้ำหมักเป็นแบบไม่ใช้ออกซิเจน เมื่อเอามาใส่ในกองปุ๋ยที่มีออกซิเจน จุลินทรีย์ในน้ำหมักก็เลยจะเป๋ ไปไม่ถูก ช่วยอะไรไม่ได้ แถมยังทำให้กองปุ๋ยมีกลิ่นอีกต่างหาก ….. แถมความเป็นกรดของน้ำหมักน้ำจุลินทรีย์ยังจะไปยับยั้งการทำงานของน้องจุลในกองปุ๋ยด้วยครับ …….. ถ้าอยากจะใส่น้ำหมักในปุ๋ยหมักจริง ๆ ก็อยากแนะนำให้ใส่ตอนก่อนที่ปุ๋ยหมักครบกำหนดแล้ว และกำลังทิ้งไว้ให้แห้ง พอแห้งก็ใส่กระสอบครับ แล้วค่อยนำไปใช้

ห้ามใส่กากน้ำตาลในกองปุ๋ย กากน้ำตาลเหมาะกับการทำน้ำหมักชีวภาพที่กระบวนการเป็นกรดจัด สามารถเปลี่ยนโมเลกุลใหญ่ของกากน้ำตาลให้เป็นโมเลกุลที่เล็กลงเพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์ ……… แต่ในกองปุ๋ยหมักไม่เป็นกรดครับ กากน้ำตาลจะไม่ถูกใช้ และอาจส่งผลเสียต่อการเพาะปลูก เพราะอาจไปทำให้เกิดเชื้อราที่ใบของพืช หรือเกิดการบูดเน่าต่อในดินครับ ไนโตรเจนที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์สำหรับการทำปุ๋ยหมักของห้องเรียนนี้ได้มาจากที่มีในมูลสัตว์แล้ว ไม่ต้องเติมอะไรอีกแล้วครับ

ห้ามขึ้นกองปุ๋ยหมักโดยไม่มีเข่ง หรือตะกร้า เพราะการตวงเศษพืชและมูลสัตว์ด้วยเข่งหรือตะกร้าจะทำให้สัดส่วนใบไม้ต่อมูลสัตว์ 3 ต่อ 1 (ฟาง ผักตบ เศษข้าวโพดต่อมูลสัตว์ 4 ต่อ 1 ……. ผักตบ ต้นกล้วยหั่น 6 ต่อ 1) ……. มีปริมาณสารอาหารสำหรับจุลินทรีย์ที่พอเหมาะ (C/N ratio มีค่าประมาณ 20 – 25) การย่อยสลายจึงจะเกิดได้ดี และปุ๋ยหมักจะมีคุณภาพสูงผ่านเกณฑ์มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของประเทศ ……. ห้ามกะด้วยสายตา ห้ามคำนวณด้วยน้ำหนักนะครัช ถ้าจะทำปุ๋ยหมักขาย ……. แต่ถ้าจะทำปุ๋ยหมักใช้เอง ไม่อยากเคร่งเครียด ซีเรียส ก็กะด้วยสายตาก็ได้ครับ เพราะยังไง ๆ พืชก็ชอบหมดครับ

การทำปุ๋ยหมักวิธีของจารย์ลุงมีข้อดีคือ ไม่ต้องพลิกกลับกอง ลดการใช้แรงงาน ทำในนาในสวนก็ได้ ลดการขนย้าย ได้ปุ๋ยหมักปริมาณมาก ๆ ไม่ต้องใช้สารอะไร มีแต่มูลสัตว์กับเศษพืช ทำบนดินก็ได้ ไม่ต้องมีหลังคาก็ได้ ลดการเผาฟางหรือใบไม้ ใช้ประโยชน์จากผักตบชวา ใบอ้อย ทะลายปาล์ม ขี้เค้กอ้อย หญ้า เปลือกส้ม มะนาว ทุเรียน เศษผัก เศษอาหาร ปุ๋ยหมักมีค่าผ่านมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของประเทศทุกครั้ง

กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพในกองปุ๋ย จุลินทรีย์ในมูลสัตว์จะไปสกัดเอาคาร์บอนในเศษพืชออกไปเป็นสารอาหาร เหลือตกค้างเหล่าจุลธาตุ (โบรอน โมลิบดินัม เหล็ก ทองแดง สังกะสี คลอรีน แมงกานีส นิกเกิ้ล) ……. ธาตุอาหารรอง (แคลเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์) …….. และธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม) ……. เหลือไว้ในปุ๋ยหมัก ให้เราได้นำไปให้ต้นพืชใช้ เป็นการหมุนเวียนแร่ธาตุโดยไม่ต้องไปซื้อหา

ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15 – 15 – 15 มีแต่ N P K แต่ไม่มีอินทรียวัตถุ จุลธาตุ และธาตุอาหารรองครับ …. ของดีพวกนี้มีแต่ในปุ๋ยหมักเท่านั้น โดยไม่ต้องไปซื้อหายาวิเศษราคาแพง ๆ เลย ……. ของดีเหล่านี้มาจากเศษพืชครับ มีในขี้วัวน้อยมาก …… ของดีในมูลสัตว์สู้ที่มีในปุ๋ยหมักไม่ได้ อาจเป็นเพราะลำไส้วัวดูดซับเอาธาตุอาหารในฟางหญ้าไปใช้หมด

แล้วจุลธาตุ ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารหลักในเศษพืชมาจากไหน .. ก็มาจากการที่รากพืชดูดซับขึ้นมาจากดิน เอามาสะสมไว้ในใบ ในต้น เพื่อสร้างดอก เมล็ด ผล ให้เราได้ทาน ได้เก็บเกี่ยว … ดังนั้น หากเราเผาเศษพืชทิ้งไป ก็เท่ากับเผาทำลายอินทรียวัตถุและธาตุอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ทิ้งไปด้วยอย่างน่าเสียดาย

การทำปุ๋ยหมักแบบใหม่นี้ จะช่วยให้เพื่อน ๆ สมาชิกสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ครั้งละ 10-100 ตัน เสร็จในสองเดือน … ก็เป็นโอกาสดีที่จะมีปุ๋ยหมักบำรุงสวนของเราอย่างเพียงพอ …. ลองคิดนอกกรอบดูไหมครับ …. ว่า …. ปุ๋ยหมักที่เหลือใช้ ลองขายเพื่อนบ้านดู กก.ละ 7 บาท หรือตันละ 7,000 บาท ทั้ง ๆ ที่มีต้นทุนตันละ 750 บาท …… เพื่อเอาค่ามูลสัตว์คืน ไม่มีการค้าใดที่ให้กำไรดีอย่างนี้อีกแล้วครับ ภายในเวลา 2 เดือน …. เป็นสินค้าที่ไม่มีวันบูดเน่า เก็บได้ 3-4 ปีในร่ม ถ้าแบ่งขายได้ ก็แสดงว่าเราจะมีปุ๋ยหมักดี ๆ ไว้ใช้ฟรี ๆ อีกต่างหากครับ

ขอบคุณข้อมูล facebook  : Teerapong Sawang(สอนทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง)

Facebook Comments Box